แบบประเมินตนเองของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล
ด้านคุณธรรม และธรรมาภิบาล
วัตถุประสงค์
แบบประเมินนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือให้กับกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลทั่วประเทศใช้ในการประเมินระดับมาตรฐานคุณธรรมของแต่ละกองทุน ให้สามารถใช้ข้อมูลเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการพัฒนายกระดับมาตรฐานคุณธรรม ธรรมาภิบาล ของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล และเสนอผลการประเมินภาพรวมระดับประเทศเข้าสู่นโยบายรัฐบาลในการสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลต่อไปในอนาคต
ผลที่ว่าจะได้รับ
ระดับองค์กร
· ได้ทราบสถานะเพื่อการพัฒนาธรรมาภิบาลของกองทุนฯ ตามระดับมาตรฐานคุณธรรม ธรรมภิบาลของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล
· ได้ต้นแบบ และแหล่งเรียนรู้กองทุนสวัสดิการที่มีมาตรฐานคุณธรรมและธรรมาภิบาลเพื่อการขยายผล
· เครื่องมือการประเมินระดับมาตรฐานคุณธรรม และธรรมาภิบาลของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลที่เกิดการยอมรับและถูกใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริมการพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลในอนาคต
· ได้องค์ความรู้ นวัตกรรมด้านการส่งเสริมคุณธรรมจากการประเมินตนเองของกองทุนสวัสดิการชุมชน
ระดับเครือข่ายกองทุนสวัสดิการ
· กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลมีภาพลักษณ์ด้านคุณธรรมจริยธรรม ธรรมภิบาลเพิ่มมากขึ้น
· การบริหารจัดการของกองทุนสวัสดิการได้รับการยอมรับจากหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้องรวมทั้งรัฐบาลในการผลักดันสู่การสนับสนุนในระดับนโยบาย
แนวทางและกระบวนการในการประเมินตนเองของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล ด้านคุณธรรม และธรรมาภิบาล
· กลไกการประเมิน ประกอบด้วย ผู้ทำการประเมิน และผู้ส่งเสริมการประเมิน
· ผู้ทำการประเมิน ประกอบด้วย
1. คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชน กองทุนละ 3 ท่าน
2. สมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชน กองทุนละ 2 ท่าน
3. เครือข่ายสวัสดิการชุมชนระดับอำเภอ/โซน/จังหวัด อย่างน้อย 1 ท่าน
4. หน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องในพื้นที่
· ผู้ส่งเสริมการประเมิน ประกอบด้วย ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และสถาบันพัฒนาองค์ชุมชน (องค์การมหาชน) และคณะกรรมการสนับสนุนการขับเคลื่อนสวัสดิการชาติโดยมีกองเลขาภาคของแต่ละภาคเป็นพี่เลี้ยงในกระบวนการประเมิน
หน้าที่ของผู้ส่งเสริมการประเมิน คือ ชี้แจงทำความเข้าใจหลักเกณฑ์และขั้นตอนการประเมิน กำหนดกรอบระยะเวลาการประเมิน จัดทำระบบและเอกสารการประเมิน ประสานงานคณะทำงานระดับภาค รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ประเมินผล ตลอดจนคืนผลการประเมินพร้อมข้อเสนอแนะในการปรับปรุงให้ แก่กองทุนสวัสดิการชุมชนทราบ
หลักเกณฑ์ การประเมินกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล คุณธรรมและธรรมาภิบาล 6 หมวด 49 ตัวชี้วัด ได้แก่
๑. การนำองค์กรด้วยหลักคุณธรรม มี 5 ตัวชี้วัด
๒. การได้มาซึ่งคณะกรรมการและสมาชิกที่เป็นธรรม มี 7 ตัวชี้วัด
๓. การกำหนดแผนพัฒนากองทุนอย่างมีธรรมาภิบาล มี 8 ตัวชี้วัด
๔. การบริหารและส่งเสริมสมาชิกตามหลักคุณธรรมและธรรมาภิบาล มี 15 ตัวชี้วัด
๕. การสื่อสารและการติดตามผลเพื่อการอยู่ร่วมกัน มี 5ตัวชี้วัด
๖. ผลการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืน มี 9 ตัวชี้วัด
เครื่องมือการประเมินและการวิเคราะห์ผล
เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินคุณธรรม และธรรมาภิบาลของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล เป็นแบบประเมินการรับรู้ กำหนดมาตรวัด 3 ระดับ ได้แก่ ระดับมาก (3) ระดับปานกลาง (2) และระดับน้อย (1) โดยสามารถเลือกตอบได้เพียง ๑ ข้อ การตอบแบบประเมินฯ ดำเนินการผ่านอินเตอร์เน็ต ที่สามารถดำเนินการตอบกลับได้ทุกช่องทาง
การวิเคราะห์ผล จะทำการแปลงผลการประเมินออกเป็นค่าคะแนน โดยกำหนด ดังนี้
การประเมินในระดับมาก มีค่าคะแนนเท่ากับ 3 คะแนน
การประเมินในระดับปานกลาง มีค่าคะแนนเท่ากับ 2 คะแนน
การประเมินในระดับน้อย มีค่าคะแนนเท่ากับ 1 คะแนน
วิเคราะห์ผล ด้วยค่าคะแนนผลรวม ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
การแปลค่าระดับคุณธรรม และธรรมาภิบาลของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล ดำเนินการโดยการนำผลรวมค่าคะแนนของทุกตัวชี้วัดมาเปรียบเทียบกับระดับช่วงคะแนนที่กำหนดขึ้นจากการคำนวณค่าพิสัยและแปลผล ดังนี้
ผลคะแนนรวม 0-49 คะแนน หมายถึง เร่งปรับปรุงด่วน
ผลคะแนนรวม 50-73 คะแนน หมายถึง มีค่าระดับตามเกณฑ์ประเมินคุณธรรม และธรรมาภิบาลน้อย
ผลคะแนนรวม 74-97 คะแนน หมายถึง มีค่าระดับตามเกณฑ์ประเมินคุณธรรม และธรรมาภิบาลปานกลาง
ผลคะแนนรวม 98-121 คะแนน หมายถึง มีค่าระดับตามเกณฑ์ประเมินคุณธรรม และธรรมาภิบาลสูง
ผลคะแนนรวม 122-147 คะแนน หมายถึง มีค่าระดับตามเกณฑ์ประเมินคุณธรรม และธรรมาภิบาลสูงมาก